กาลครั้งหนึ่ง กระต่ายตัวหนึ่งนอนหลับอยู่ใต้ต้นตาล
ขณะที่นอนหลับอยู่นั้น เกิดพายุใหญ่
ทำให้ลูกตาลหล่นลงที่พื้นดิน เกือบถูกกระต่าย
กระต่ายตกใจตื่นขึ้น คิดว่าฟ้าถล่ม ไม่ทันได้ไตร่ตรอง
ลุกขึ้นได้ก็วิ่งไปอย่างสุดกำลัง เพราะกลัวความตาย
สัตว์อื่น ๆ เห็นกระต่ายวิ่งมาจนเต็มกำลังดังนั้น
จึงถามกระต่ายว่า ”นี่ท่านวิ่งหนีอะไรมา”
กระต่ายวิ่งพลางบอกพลางว่า “ฟ้าถล่ม”
สัตว์เหล่านั้นได้ฟังกระต่ายบอก ไม่ทันคิด
สำคัญว่าฟ้าถล่มจริง ก็พากันวิ่งตามกระต่ายไป
หกล้ม ขาหัก แข้งหัก โดนต้นไม้ ตกเหวตายบ้างก็มี
ส่วนที่ยังเหลือก็พากันวิ่งหนีต่อไปอีก
จนกระทั่ง มาพบพญาราชสีห์ตัวหนึ่ง เป็นสัตว์มีปัญญา
เห็นสัตว์ทั้งหลายพากันวิ่งมาไม่หยุดไม่หย่อน จึงร้องถามว่า…
“พวกท่านวิ่งหนีอะไรมา”
กระต่ายจึงเล่าเรื่องให้ราชสีห์ฟัง ราชสีห์ก็เข้าใจทันที
จึงถามต่อไปว่า “ฟ้าถล่มที่ตรงไหน จงพาเราไปดูสักที”
พอไปถึงใต้ต้นตาลที่กระต่ายนอน
พญาราชสีห์พิเคราะห์ดู เห็นลูกตาลตกอยู่ที่โคนต้น
ก็เข้าใจว่าที่แท้เป็นลูกมะตูมตกลงบนใบตาลแห้ง…จึงเกิดเสียงดัง
จนเจ้ากระต่ายคิดว่าแผ่นดินถล่ม
สัตว์ทั้งหลายเกือยต้องเสียชีวิต
เพราะเชื่อตามเสียงผู้อื่นโดยไม่คิดไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน
เมื่อรู้สาเหตุแล้ว…จึงประกาศให้สัตว์ทั้งหลายทราบตามคามเป็นจริง…
ด้วยความสุขุมรอบคอบรู้จักใช้สติปัญญาไตร่ตรอง…
พญาราชสีห์จึงสามารถรักษาชีวิตสัตว์ทั้งหลายไว้ได้
และนำความสงบสุขมาสู่ป่าใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1). “เมื่อต้องประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง…ควรมีสติ
อย่าผลีผลามด่วนตัดสินใจ…เพราะอาจเกิดผลเสียได้”
2). “อย่าตื่นตกใจโวยวายเชื่อข่าวลือจากผู้อื่น…โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน”
3). “ผู้ที่รู้จักใช้สติปัญญาคิดพิจารณาอย่างรอบคอบจะสามารถค้นพบ…สาเหตุของปัญหาได้”
จากนิทานเรื่องนี้ จึงทำให้เกิดเป็นสำนวนสุภาษิตไทยขึ้นว่า “กระต่ายตื่นตูม” ที่หมายถึง“ใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่าย…โดยไม่ทันคิดพิจารณาให้ถ่องแท้รอบคอบเสียก่อนว่าเป็นจริงหรือไม่…ถ้าเชื่อโดยไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้…อาจทำให้เกิดความเสียหายได้”