กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…มีกบฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง
อย่างอิสระเสรี และมีความสุข ไม่มีใครบังคับเคี่ยวเข็ญ กิน นอน เล่น ไปวันวัน
ทำให้รู้สึกว่าพวกตนช่างมีความสุขสบายเหลือเกิน
ต่อมาวันหนึ่ง พวกกบได้มานั่งล้อมวงคุยกัน ต่างปรึกษากันว่า…
การอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ น่าจะมีหัวหน้า หรือพระราชาปกครองพวกเราสักคน
นอกจากจะทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว
ยังช่วยคุ้มครองอันตราย ให้กับพวกกบได้อีกด้วย
กบทั้งหลายต่างมีความเห็นตรงกัน
จึงพากันไปขอหาเทวดาขอพรให้เทวดาช่วยส่งหัวหน้า หรือพระราชามาให้
เทวดารู้ว่าพวกกบสุขสบายกันจนเคยตัวก็เลยนึกอยากมีหัวหน้าไปอย่างนั้นเอง
ไม่ได้คิดจริงจังอะไร จึงเสกท่อนซุงให้หล่นจากฟ้าตกลงสู่หนองน้ำเสียงดังโครมใหญ่
พวกกบพากันตกใจกลัวรีบดำหนีไปหลบก้นสระ
เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงพากันโผล่ขึ้นมา
พวกกบทั้งหลายได้เห็นซุงท่อนใหญ่ก็รู้ว่าเป็นพระราชาที่เทวดาประทานมาให้
ต่างพากันดีใจและให้ความเคารพท่อนซุงนั้น
ต่อมาไม่นานมีกบตัวหนึ่งใจกล้ากระโดดขึ้นไปเกาะบนท่อนซุงใหญ่
กบตัวอื่นๆเห็นว่าพระราชาของตนไม่ว่า อะไรก็พากันกระโดดตามขึ้นไปบ้าง
“พระราชาของเราองค์นี้ท่านก็ใจดีอยู่หรอก แต่อ่อนแอไม่เอาไหน
วันๆ ได้แต่ ลอยไป ลอยมา…น่าเบื่อ” กบตัวหนึ่งกล่าวอย่างหมดความยำเกรง
“พวกเราน่าจะไปร้องขอพระราชาองค์ใหม่ที่เข้มแข็งกว่านี้
มาปกครองพวกเราดีกว่า” กบอีกตัวพูด
พวกกบจึงพากันไปร้องขอต่อเทวดา เทวดาเห็นว่าพวกกบทำแบบนั้น
จึงโกรธพวกกบ…ที่ไม่รู้จักพอใจ…ในความเป็นอยู่ที่แสนสุขสบายของตน
คราวนี้เลยส่งนกกระสาไปแทนท่อนซุง
เมื่อนกกระสาลงไปก็จับพวกกบกิน เป็นอาหาร ตัวแล้วตัวเล่า
พวกกบหายไปทีละตัวทีละตัว เมื่อได้รับความเดือดร้อน
พวกกบที่เหลืออยู่จึงพากัน ขอพระราชาองค์ใหม่จากเทวดาอีกครั้ง
“เมื่อเจ้าไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่เดิมของตัวเอง
ก็จงทนอยู่กับสภาพที่พวกเจ้าร้องขอไปเถอะ… ”เทพเจ้าตวาดเสียงดังลงมาจากฟากฟ้า
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ความต้องการที่ไม่รู้จักจบสิ้น…อาจก่อผลร้ายในภายหลัง”
และจากนิทานเรื่องนี้เอง ที่ทำให้เกิดเป็นสำนวนสุภาษิตไทยขึ้นว่า “กบเลือกนาย” ที่หมายถึง “ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาอยู่เรื่อยๆ…ซึ่งท้ายสุดก็มักจะไม่ได้ดี…” นั่นเอง